TNR เตรียมความพร้อมวัตถุดิบรองรับการผลิตถุงยางอนามัยเต็มกำลัง พร้อมตุนออเดอร์ล่วงหน้าถึง มิ.ย.นี้ หลังซัพพลายในตลาดโลกลดลง

BackApr 01, 2020

บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR เตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบรองรับการผลิตถุงยางอนามัยอย่างเต็มที่ หลังซัพพลายในตลาดโลกลดลงจากการที่บางประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ด้านผู้บริหารเผยมีออเดอร์สินค้าล่วงหน้าจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมคุมเข้มมาตรการคัดกรองพนักงานและฆ่าเชื้อโรคภายในโรงงานเพื่อความปลอดภัย

นายอมร ดารารัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยจากน้ำยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทั่วโลก ส่งผลให้บางประเทศเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์ (ปิดเมือง) เพื่อควบคุมสถานการณ์ และมีผลกระทบต่อกำลังการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมบางประเภทปรับลดลง โดยในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตถุงยางอนามัยนั้นทราบว่ามีโรงงานของผู้ผลิตรายใหญ่ในต่างประเทศบางแห่งที่ไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้อย่างเต็มที่ในช่วงนี้และมีความเสี่ยงเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงต้นปีบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบ อาทิ น้ำยางธรรมชาติ, บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อรองรับการผลิตถุงยางอนามัยได้อย่างเต็มที่ โดยในปัจจุบัน TNR ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าในส่วนการรับจ้างผลิต (OEM) ที่มาจากฐานลูกค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง บางรายมีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 20% ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ ต้องเดินเครื่องจักรเกือบเต็มกำลังการผลิต รวมถึงมีออเดอร์ล่วงหน้าที่รอการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายนนี้

ขณะเดียวกัน ได้วางมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อให้ความมั่นใจด้านการผลิตในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาด โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานก่อนเข้าโรงงานอย่างเคร่งครัดเพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง ตลอดจนเพิ่มความถี่การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคตามพื้นที่จุดต่าง ๆ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส

“ประเมินว่าสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าถุงยางอนามัยไปอีกประมาณ 2-3 เดือน โดยปัจจุบันโรงงานผลิตของ TNR ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ชลบุรี ถือว่ามีความพร้อมด้านการผลิตอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังไม่มีแผนงานลงทุนขยายกำลังการผลิตในเร็ว ๆ นี้ แต่ได้วางแผนบริหารสัดส่วนการผลิตสินค้า โดยอาจปรับลดการรับออเดอร์จากงานประมูลที่เข้ามาเติมเต็มกำลังการผลิตและมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ และ OEM ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี” นายอมร กล่าว